ถ้าท่านได้ติดตามหนัง Netflix Series เกาหลี ที่กำลังดัง "Start-Up" จะได้ยินคำคำหนึ่งบ่อยๆ นั่นคือ กิจกรรม แฮกกาธอน (Hackathon) แล้วมันคืออะไร
อาจารย์โหน่ง อลงกรณ์ จะมาเล่าสู่กันฟังครับ

แฮกกาธอน กิจกรรมรูปแบบใหม่ ที่อาจเรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อเปิดโอกาสให้แก่บรรดาสตาร์ทอัพโดยเฉพาะก็ว่าได้ (จริง ๆ แล้ว ไม่เสมอไปใคร ๆ ก็ร่วมกิจกรรมได้) ด้วยรูปแบบที่มีลักษณะเป็นการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยส่วนมากจะเกิดจากการรวมกลุ่มกันเป็นทีม ซึ่งสมาชิกในทีมอาจประกอบไปด้วยกลุ่มนักออกแบบ นักคิด และนักพัฒนา เช่น นักธุรกิจ นักการตลาด นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักเทคโนโลยี นักออกแบบกราฟิก และนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
เพื่อสร้างสรรค์คิดค้นไอเดียและนวัตกรรมใหม่ภายในระยะเวลาที่จำกัดแบบต่อเนื่องตามโจทย์ที่ได้รับ โดยปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 5 วัน ก่อนที่จะนำเสนอผลงานดังกล่าวต่อคณะกรรมผู้ตัดสินเพื่อหาผู้ชนะและได้รับรางวัลในที่สุด และอาจต่อยอดหรือขยายผลไปเป็นธุรกิจในอนาคตได้จริง ๆ เสียด้วย หากผลงานนั้น ๆ เป็นที่ถูกใจบรรดานักลงทุนหรือผู้มีงบประมาณให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนา
แฮกกาธอน มีที่มาจาก การรวมคำสองคำคือคำว่า “Hack” กับคำว่า “Marathon” คำว่า “Hack” ในที่นี้ก็มาจาก "Hacker" นั่นแหละ แต่อย่าพึ่งเข้าใจไปในทางไม่ดีนะ เพราะรู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้เราอาจเข้าใจภาพลักษณ์ของเหล่า Hacker ไปในทางที่ผิด จริง ๆ แล้วเขาคือบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของคอมพิวเตอร์ในเชิงลึกจนสามารถเข้าใจว่าระบบมีช่องโหว่ตรงไหน หรือมีอะไรที่ควรแก้ไข แล้วพวกเขาเองก็ต้องการแก้ไขมัน ด้วยความรู้ความสามารถที่พวกเขามี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละบุคคลว่าจะใช้ความสามารถดังกล่าวไปในทางที่ถูกหรือผิดนั่นเอง ดังนั้น ในกิจกรรมแฮกกาธอนแบบนี้ เราควรเรียกพวกเขาว่า “Innovator” หรือ “Engineer” จะดีกว่า
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแฮกกาธอนจะได้รับโจทย์สำคัญ เพื่อให้พวกเขาได้ประลองความสามารถภายในระยะเวลาที่จำกัด ในการร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ที่ได้รับ ซึ่งนับเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่หัวข้อของโจทย์นั้นจะเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น สุขภาพ ครอบครัว สังคม ผู้สูงอายุ ความสะดวกสบายและประสบการณ์ ความยั่งยืน เป็นต้น
โดยไอเดียและนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้โจทย์ปัญหาดังกล่าว เราอาจเรียกมันได้ว่า “Solution” ซึ่งอาจถูกนำเสนอออกมาได้ในหลายรูปแบบ เช่น conceptual design, demo application, หรืออยู่ในรูปแบบของ MVP (Minimum Viable Product)
ทั้งนี้ในเบื้องต้นนั้น อยากสรุปให้เข้าใจโดยภาพรวมว่า แฮกกาธอน เป็นกิจกรรมที่ดีในสังคมแห่งยุคดิจิทัล ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความฝันอยากเป็นผู้ก่อนตั้งผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพอย่างเดียวเท่านั้น ใครที่ชอบความท้าทายชอบการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ก็สามารถหาทางเข้าร่วมกิจกรรมได้
ซึ่งในประเทศไทยเอง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็สนับสนุนและจัดกิจกรรมนี้กันอยู่บ่อย ๆ นอกจากเงินรางวัลก็ยังมีประสบการณ์ต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งโอกาสในการต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป และโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ ที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และด้านธุรกิจ ซึ่งนั่นคือโอกาสที่ดีในการนำประสบการณ์ที่ได้ ไปปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงต่อไปครับ
ที่มาบทความ : scimath.org
Comments